top of page

อย่าอ่านหนังสือเรียนจนเป็นซอมบี้ :เทคนิคการอ่านหนังสือเรียนให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายๆคนคงจะรู้สึกเข็ดขยาดกับการค้นคว้าเพื่อทำรายงานหรือเตรียมสอบในหนังสือเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเล่มโตที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ภาษาศัพท์แสงแบบเป็นทางการไม่คุ้นเคยยิ่งทำให้การอ่านหนังสือเรียน หรือที่เราเรียกกันว่าเทกซ์บุ๊คนั้นยิ่งคล้ายคลึงกับการกินยาขมหม้อใหญ่ไม่มีผิด ในวันนี้ ทาง Interboosters จึงอยากจะขอแชร์เทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้การอ่านหนังสือเรียนเล่มโต ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นจนเกินไป

“The mark of a successful college student is the mastery of knowing not only what to study, but also how to study it. ” Patricia I. Mulcahy-Ernt

“สิ่งสำคัญของนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จคือ ผู้รู้แจ้งที่ไม่เพียงแต่ทราบถึงว่าตนเรียนอะไร หากแต่ต้องทราบว่าเรียนอย่างไรด้วย “

ก่อนอื่น เรามาเริ่มจากการเตรียมความพร้อมเพื่อการอ่านหนังสือให้ได้ประสิทธิภาพในเบื้องต้นกันก่อน มีหลัก 3 ประการที่ต้องยึดถือ ดังนี้

1. Get the right information ต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แน่อนว่าคุณไม่สามารถเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่หนังสือได้เขียนไว้ ดังนั้น คุณจึงต้องรู้ว่าสิ่งใดคือสาระสำคัญที่หนังสือต้องการสื่อ และเก็บสิ่งนั้นไว้ในหัว

2. Actually remember that information จดจำรักษาข้อมูลที่ถูกต้องดังกล่าวไว้ให้นานเท่านาน และสามารถนำออกมาใช้ได้เมื่อต้องการ

3. have more time for your favorite activities! มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นที่เราชอบมากขึ้น เมื่อเราสามารถอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถจัดสรรเวลาไปทำสิ่งที่เราชอบได้ด้วย

เอาล่ะ พอเราได้เตรียมความพร้อมเบื้องต้นไปแล้ว ขั้นต่อไป เราต้องมาเซ็ต “เป้าหมาย” ของการอ่านให้ชัดเจนกันเถอะ!ด้วยคำถามง่ายๆ “ทำไมเราถึงต้องนั่งหลังขดหลังแข็งอ่านหนังสือกันนะ”

แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือ “ก็อ่านเพื่อเตรียมตัวก่อนเรียน” , “อ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ เพื่อให้ได้คะแนนดีๆ” คำตอบเหล่านี้ล้วนถูกต้อง ซึ่งขั้นต่อไป เราต้องหา “กลยุทธ์” เพื่ออ่านให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจไว้

เป็นนักอ่านที่มีกลยุทธ์ เริ่มจากการประเมินเป้าหมายของการอ่าน

การเป็น “นักอ่านที่มีกลยุทธ์”ก็แปลว่านักอ่านดังกล่าวมีการใช้กลวิธีที่หลากหลายสำหรับจุดประสงค์ในการอ่านที่แตกต่างกันไป ซึ่งจุดประสงค์เหล่านั้นนั่นเอง ได้เป็นนิยามให้กับ “กลยุทธ์”ของการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง จะรู้ได้อย่างไร ว่าการอ่านนั้นมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ ผลของการอ่านมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายของการอ่านหนังสือ คือ เพื่อไปสอบ เมื่ออ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้คือ ผลการสอบในวิชาดังกล่าวดี เป็นที่น่าพอใจ

การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้แปลว่าอ่านซ้ำๆอย่างหนักหน่วงเสมอไป นักเรียนส่วนใหญ่มักจะอ่านกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนสภาพไม่ต่างจากซอมบี้ เมื่อได้รับการบ้านมา ก็ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองว่าต้องอ่านให้ได้จำนวนหน้ามากๆ ภายในระยะเวลาชั่วข้ามคืน การประเมินจุดม่งหมายของการอ่านนั้นจะเป็นสิ่งกำหนดว่า ผู้อ่านจำเป็นต้องดึงข้อมูลใดมาจากการอ่านครั้งนั้นมากที่สุด ตัวอย่างเช่น

1. เมื่อคุณกำลังต้องสอบข้อสอบแบบตัวเลือก ก็จำเป็นต้องอ่านแบบเจาะลึกในรายละเอียด จะต้องมีการจดโน้ตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อครอบคลุมถึงรายละเอียดเล็กน้อยๆ ที่สามารถกลายมาเป็นข้อสอบได้

2. เมื่อคุณต้องเขียนเรียงความ อ่านแล้วเก็บประเด็นใจความสำคัญให้ครบถ้วน สร้างเนื้อหาที่มาจากการตกผลึกจากการอ่าน ด้วยภาษาของคุณเอง

3.การอ่านเพื่อประเมินผลของข้อมูลในแล็บที่สามารถประยุกต์ใช้กับการศึกษา/วิชาที่เป็นเชิงเทคนิคและวิทยาศาสตร์มากขึ้น

4.การสรุปการค้นคว้าออกมาเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและจัดทำรายงานให้ดูโดดเด่น น่าสนใจ นอกจากนี้ก็ต้องสื่อสารให้คนในชั้นเรียนเข้าใจ โดยใช้ภาษาที่มาจากความเข้าใจของตัวเอง

การประเมินจุดม่งหมายของการอ่าน นั้นสามารถเริ่มได้จาก

เริ่มจากประเมินความต้องการของชั้นเรียนนั่นเอง เมื่อเริ่มต้นภาคการศึกษาใหม่ ผู้เรียนต้องเริ่มพิจารณาถึงตัวภาพรวมของการศึกษาในภาคการศึกษานั้นๆ (course syllabus) และเกณฑ์อะไร ที่อาจารย์มักจะใช้ประเมินเราในชั้นเรียน จากนั้นจึงประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวเข้ากับตัวบทที่เราต้องอ่าน แน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องใช้การฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อคุณปฏิบัติไปเรื่อยๆจะพบว่าเริ่มมีสมาธิจดจ่อกับการอ่านขึ้น ซึ่งจะช่วยคุณประหยัดเวลาในการอ่าน อีกทั้งจะให้คุณพบข้อมูล สาระสำคัญที่เรากำลังหาอยู่ได้เร็วขึ้นนั่นเอง

เมื่อคุณได้ประเมินความต้องการของคลาสแล้ว และทราบว่าข้อมูลอะไรที่คุณต้องการดึงออกมาจากหนังสือ/ตัวบทที่คุณกำลังอ่าน คำถามต่อไปคือ แล้วคุณจะอ่านให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างไร ?

ผู้อ่านลองเอากฎครอบจักรวาลสองข้อนี้ ไปปรับใช้ได้กับทุกๆการอ่านกันได้

1. ห้ามอ่านหนังสือเรียน เหมือนกำลังอ่านหนังสือพิมพ์

การอ่านหนังสือพิมพ์นั้นเป็นการรับทราบข่าวสารข้อมูลประจำวัน ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายในชั้นเรียนเท่าใดนัก การที่คุณต้องอ่านเพื่อนำไปปรับใช้กับชั้นเรียน ไม่ใช่การบอกเล่าทั่วไป อีกทั้ง การเรียนที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่การอ่านและอ่านซ้ำๆให้ได้จำนวนรอบเยอะเท่านั้น Virginia Voeks ผู้เขียน On becoming an educated person ได้กล่าวไว้ว่า “How often you read something is immaterial; how you read it is crucial” ประเด็นไม่ได้อยู่ที่อ่านบ่อยแค่ไหน แต่อ่านอย่างไรต่างหากที่สำคัญ

การอ่านหนังสือเป็นเสมือนการเดินเข้าไปในพิพิทธภัณฑ์ศิลปะ โดยที่คุณสามารถเดินเข้าไปในพิธภัณฑ์ได้เป็นสิบๆครั้ง และเพ่งพินิจที่ภาพวาดจำนวนมากในแต่ละครั้งที่เข้าไป แต่กระนั้นคุณก็ไม่ทราบสิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังภาพวาดเหล่านั้นเลย เช่น ที่มา ความรู้ที่อยู่เบื้องหลัง ศิลปินผู้สร้าง ความหมาย สิ่งที่ศิลปะนั้นๆต้องๆการสื่อคืออะไร เป็นต้น การอ่านหนังสือก็เช่นเดียวกัน การกวาดสายตาไปทั่วๆก็เหมือนการเดินทอดน่องไปในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งนั่นถือว่าเป็นการพลาดโอกาสในการเรียนรู้ไปเลย เพราะระหว่างการอ่าน สมองคนเราสามารถระลึกภาพเหตุการณ์ในอดีตต่างๆได้ดี ที่มากระทบกับอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรากำลังอ่าน ดีกว่าการจำที่เกิดจากการมองอย่างผ่านๆตามบรรทัดของตัวหนังสือ ดังนั้น ควรอ่านไปให้เหมือนกับจะไปคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการท้าทายว่าคุณรู้จริงหรือไม่ โดยที่คุณฟังอย่างตั้งใจ ตอบโต้ในบทสนทนา และในที่สุด ทั้งคู่สนทนาก็จะสามารถได้ข้อสรุปใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆร่วมกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่า active reading ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญในการรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากหนังสือ และ สามารถนำมาเรียกใช้ได้ในภายหลัง

2. การสร้างสองนิสัยควบคู่กันในการอ่านหนังสือเรียน

นิสัยที่หนึ่ง - การจดจ่ออยู่ที่การอ่านอย่างสม่ำเสมอ

นิสัยที่สอง - การใช้วิธีการอ่านแบบ active reading

ในข้อหนึ่ง ควรเริ่มจาก การอ่านหนังสือทุกวัน ซึ่งควรจะมีการทำแผนของการอ่านไว้ในแต่ละสัปดาห์ อีกทั้งแผนสำหรับการอ่านสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากหนังสือ หากคุณจัดการกับหนังสือจบแล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นจากนิสัยที่อ่านเป็นประจำทุกวัน อย่างสม่ำเสมอ ส่วนที่สอง พยายามเขียนโน้ตเล็กๆเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้อ่านไป หรือทำสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ยาวมาก สำหรับการอ่านแต่ละครั้ง ซึ่งก็คือการอ่านแบบ active reading นั่นเอง ทั้งสองวิธีนี้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เพอร์เฟคต์ หากแต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือความสม่ำเสมอ และการอ่านที่เราต้องใส่ใจให้มากขึ้น เช่น มีการจดโน้ต คอยเช็กความเข้าใจระหว่างการอ่านไปด้วย ตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัยระหว่างการอ่านไปด้วย เป็นต้น

ด้วยนิสัยสองแบบที่กล่าวมานี้คุณสามารถจัดมันเข้าหมวดหมู่ของกลยุทธ์การอ่าน input-based habit หรือ output-based habit

input-based habits นั้นเป็นกลยุทธ์ที่มีการกำหนดจำนวนของความพยายามที่ใส่เข้าไปอย่างแน่นอน เช่น การอ่านหนังสือตามเนื้อหาที่กำหนด มีการตั้งเวลาไว้ทั้งหมด 15 นาที ซึ่งแปลว่าคุณก็จะอ่านหนังสืออยู่ 15 นาทีเท่านั้น อีกด้านหนึ่ง output-based habit (กลยุทธ์ที่ใช้นิสัยที่อิงบนฐานของผลลัพธ์) นี้ เป็นการคาดหวังผลลัพธ์บางสิ่งบางอย่างให้แน่นอน เช่น ในการอ่านหนังสือแต่ละครั้ง ผู้อ่านจะต้องเขียนโน้ตหนึ่งหน้ากระดาษ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของนิสัยที่อิงอยู่กับผลลัพธ์ เพราะไม่ได้กำหนดเวลาที่เราจะใช้อ่านหนังสือ (ซึ่งเป็น input-based habits) แต่ผลลัพธ์คือ หลังจากการอ่าน (ไม่ว่าผ่านไปกี่ชั่วโมงก็ตาม) ต้องได้โน้ตความรู้ความยาว 1 หน้ากระดาษ

ซึ่งผู้จัดทำวิดีโอ Thomas Frank แห่งเว็บไซต์ Collageinfogeek ได้กล่าวว่าเขาได้ใช้ทั้งสองวิธีนี้ในการอ่านหนังสือของเขาเอง เช่น กำหนดเวลาในการอ่านหนังสือไว้ 15 นาที (input based habit)และกำหนดให้ตัวเองต้องเขียนโน้ตให้ได้ 1 หน้ากระดาษ (output based habit) ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวันๆ จนเริ่มชิน ทำให้เริ่มอ่านหนังสือได้เร็วและยาวนานขึ้น อีกทั้งเข้าใจมากขึ้นด้วย จากนั้น เขาได้ใช้ output based goal กำหนดให้จดโน้ตเพียงครึ่งหน้า ในสิ่งที่ได้จากการอ่าน เพื่อเป็นการฝึกให้เรามีส่วนร่วมกับการอ่าน ไม่ใช่อ่านผ่านๆไปเท่านั้น

ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใดในการอ่าน สุดท้ายแล้วมันจะเป็นการมอบรางวัลเล็กๆให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับการได้เกรดที่ดี แต่มีอะไรที่มากกว่านั้น ในระหว่างทางที่เรากำลังคร่ำเคร่งกับการอ่าน คือการหาวิธีการที่จะให้รางวัลตัวเองในการอ่านสำเร็จในทุกครั้ง ดังเช่นผู้จัดทำวิดีโอ เขาได้เลือกการสร้างแผนการอ่านไว้ ที่ประกอบด้วย นิสัยที่เลือก กำหนดวิธีปฏิบัติตน สิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และรางวัลที่จะได้ ซึ่งสามารถเข้าไปดูแนวทาง และดาวน์โหลดได้ที่ https://collegeinfogeek.com/how-to-read-a-textbook/

หรือคุณก็สามารถให้รางวัลตัวเองแบบอื่นๆได้เช่น ดูเสร็จแล้ว สามารถไปดูเกมส์โชว์ที่ชอบได้หนึ่งตอน เล่นเกมส์ หรืออื่นๆตามใจ เป็นต้น แต่ก็ต้องแน่ใจว่า คุณสามารถกลับมาจดจ่อให้การอ่านเป็นไปตามเป้าหมาย อ่านหนังสือให้ได้ตามเวลาที่กำหนด จดโน้ตใจความสำคัญให้ได้ตามที่คิดไว้ ให้ตัวเองเล็กๆน้อยๆเพื่อกระตุ้นเตือนให้ตัวเองมีกำลังใจในการอ่านต่อไป

เรียบเรียงจาก How to Read Your Textbooks More Efficiently - College Info Geek https://www.youtube.com/watch?v=tgVjmFSx7rg&fbclid=IwAR0g-MgiAYrKqhSk47hGamQOw8a2zDcKmBGTJfEUFeXFa1wGkLJkPlZfD7k

เผยแพร่เมื่อ 20 พ.ย.2014


Recent Posts

bottom of page