top of page

“The Cornell method” : เทคนิคการอ่านและจดโน้ตอย่างมีประสิทธิภาพ จำแม่น กลับมาเช็คเมื่อไหร่ก็ได้คำตอบ


บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นนักเรียน นักศึกษา ที่ตั้งใจฟังอาจารย์ผู้สอนอย่างใจจดใจจ่อ จดทุกอย่างลงในสมุดโน้ต หรือ พิมพ์ทุกอย่างที่ได้ยินลงไปในคอมพิวเตอร์แลปทอป หรือไอแพด แล้วเซฟเก็บไว้ วิธีการนี้เรียกว่าเป็น Passive reading กล่าวคือเป็นการจดไปตามสิ่งที่ได้ยินมาเท่านั้น ไม่ได้ใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพในการตีความสิ่งที่เรากำลังฟังอยู่แต่อย่างใด ซึ่งทำให้ผู้ฟังไม่มีส่วนร่วมคิดในสิ่งที่กำลังได้ยินเลย คือเหมือนการจดไปเรื่อยๆ ตามเสียงที่ผ่านเข้ามาในหูเท่านั้นเอง การจดโน้ตแบบไม่มีหลักการดังกล่าวนี้ มักจะทำให้การกลับมาอ่าน หรือค้นหาคำตอบที่เราต้องการเป็นไปได้ยากลำบาก เนื่องจากเนื้อหาถูกเขียนไว้รวมๆกัน ไม่มีการแยกหัวข้อความรู้อย่างเป็นระบบ

การจดโน้ตด้วยมือนั้นได้รับการยอมรับเป็นวิธีที่ดีกว่าใช้คอมพิวเตอร์ เนื่องจากการเขียนต้องใช้เวลามากกว่าการพิมพ์ อีกทั้งก่อนที่เราจะเขียน เราต้องคิดก่อนว่าจะเขียนอย่างไร ในวันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคการจดโน้ตด้วยมือที่ได้ผลดี ชื่อว่า “The Cornell method” เป็นวิธีการที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัย Cornell ซึ่งเป็นหนึ่งใน Ivy league ของสหรัฐอเมริกา วิธีการดังกล่าว ยังได้รับความนิยมในมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกด้วย อันดับแรก ให้สร้างตารางในกระดาษจดโน้ตเป็นดังนี้

Date (วันที่) - จะเป็นวันที่ที่ทำการจดโน้ต

ในช่องที่ 1. จะเป็นการเขียนสาระสำคัญหลักที่ผู้บรรยายได้ใช้ระหว่างการบรรยาย โดยคำที่จะใส่ในช่องนี้ จะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญๆที่เราได้ฟังมา

เช่น การบรรยายเรื่องแรงโน้มถ่วง (Gravity)

- Keywords : แรงโน้มถ่วง

- Question : แรงโน้มถ่วงคืออะไร?

- Main idea : สาระสำคัญว่าด้วยแรงโน้มถ่วง

ส่วนช่องที่ 2. จะเป็นข้อมูลที่เล็กกว่า เป็นรายละเอียดปลีกย่อยใต้สาระใจความสำคัญอันเป็นภาพใหญ่ เช่น เมื่อศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ keyword ในช่องที่ 1 คือชื่อประวัติศาสตร์ หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ส่วนช่องซ้ายมีอ (ช่องที่ 2 ) ยกตัวอย่างตรง date ก็จะเป็นรายละเอียดวันที่ที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น บุคคลสำคัญที่เรากำลังศึกษาได้เกิด และเสียชีวิต เป็นต้น นอกจากนี้รายละเอียดก็อาจจะเป็นในเรื่องของคำนิยาม สูตรทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่าง รูปภาพประกอบ เป็นต้น

ในช่องที่ 3 สุดท้ายด้านล่างสุด

สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฟัง ด้วยคำถามว่า “What I’ve learn today ?”

เมื่อคลาสได้จบแล้ว ส่วนนี้จะเป็นการสรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการฟัง และการจดโน้ตในส่วนนี้ ให้ทำเป็นสรุปสั้นๆ ดึงออกมาประมาณ 4-5 ข้อสำหรับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ จะเป็นส่วนที่ทำให้เราจำได้ ว่าแต่ละคลาสเราได้เรียนอะไรไป เป็นสิ่งๆใหม่ๆที่เพิ่มเติมเข้ามา หรือเป็นสิ่งเดิมที่สามารถนำไปต่อยอด เชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว วิธีการดังกล่าวนี้ จึงเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้เรียนทำการจดโน้ตได้อย่างมีส่วนร่วม (Active) เนื่องจากต้องผ่านการเรียบเรียง แยกแยะ สิ่งที่เราได้จากการฟังลงไป แสดงให้เห็นว่าเราได้ใช้สมรรถนะสมองของเราในการประมวลผล นอกจากนี้ วิธีดังกล่าวยังเป็นผลดีให้กับการเตรียมตัวสอบ เพราะจะทำให้สามารถหาสิ่งสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องใช้ในการสอบได้อย่างง่ายดาย

ลองมาดูตัวอย่างของการจดโน้ตวิธีดังกล่าวกันค่ะ

ตามตัวอย่างจะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเบื้องต้น ข้อมูลต่างๆถูกจัดอยู่ในตาราง ง่ายแก่การค้นหา เช่น เมื่อเราต้องการทราบถึงความแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษแบบอเมริกันและบริทิช คำตอบก็คือ การออกเสียง – er ท้ายคำ และคำศัพท์ เช่น (บริทิชใช้ lift ในขณะที่อเมริกันใช้ elevator ) หรือในส่วนของคำถาม ภาษาอังกฤษคืออะไร ? คำตอบคือ ภาษาที่เป็นทางการในหกสิบประเทศ, มีการเรียนอย่างแพร่หลายในฐานะภาษาที่สอง เป็นภาษา Indo European

ซึ่งจากตัวอย่างจะเห็นว่าเป็นการนำเพียงคีย์เวิร์ดมาใส่ลงไป ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นประโยคยาวๆ ส่วน Dialect ก็คือประเภทของภาษาอังกฤษ ที่มีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ประเทศต่างๆ หรือถ้าหากระหว่างการฟัง ผู้บรรยายอาจพูดเร็วเกินไป ทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจในหัวข้อนี้ดีนัก ก็สามารถเขียนไว้ในช่องล่างท้ายสุด เพื่อสามารถหาคำตอบภายหลัง โดยการอ่านเอง หรือสอบถามจากผู้บรรยายภายหลัง เช่น “I don’t know what a dialect is. Look up later”

“The Cornell method” ดังกล่าว สามารถใช้ได้กับทั้งการฟังสื่อต่างๆ ทั้งการบรรยาย รวมถึงวิดีโอในสื่อออนไลน์ การประชุมงาน รวมถึงการอ่านหนังสืออีกด้วย

เรียบเรียงจาก : How to study efficiently: The Cornell Notes Method

Learn English with Emma [engVid]

https://www.youtube.com/watch?v=xSYnGhlnzyw&fbclid=IwAR2UqsmAEAODubTeyR1i9BLPM0rSagmCyO6fP0_3hBsBDyzIB8tT-K96IQ เผยแพร่เมื่อ 25 ส.ค. 2016


Recent Posts

bottom of page