การจำสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาในหัวของเราตั้งแต่เกิดจนโตอย่างแม่นยำ ตอลอดจนการระลึกถึง และเรียกใช้ความจำนั้นได้ทุกเมื่อ อาจจะเป็นเรื่องราวเหลือเชื่อในพล็อตภาพยนตร์เท่านั้น หากพิจารณาถึงชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา จะเห็นได้มีว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะของชีวิต แต่คนเราส่วนใหญ่ กลับไม่สามารถจำความรู้ ประสบการณ์ที่รับมาได้ทั้งหมด เพราะเราได้หลงลืมมันไปบ้าง เบื้องต้น เราจะมาดูเหตุผลกันว่า เพราะเหตุใด สิ่งที่เราเคยเรียนรู้ หรือกระทั่งเรียนรู้อยู่ มักถูกลืมเลือนไปบ่อยครั้ง
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสมองของคนเรานั้นมีลักษณะเหมือน Hard Drive ที่มีพื้นที่จำกัด อีกทั้งสมองคนเรายังมีกลไกการป้องกันไม่ให้เกิดการล้นของข้อมูลในหัว ซึ่งในบางครั้งข้อมูลใหม่ๆจะถูกจดจำเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ซึ่งข้อมูลใหม่ๆ ที่ปราศจากการทบทวนซ้ำ การนำมาใช้ แน่นอนว่าจะถูกลืมเลือนไปในระยะเวลาอันสั้นอย่างรวดเร็ว
นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน Hermann Ebbinghaus ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความจำและกลไกของมัน เขาอธิบายถึง “เส้นกราฟการลืม” (Forgetting curve) ที่ได้แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลใหม่ๆที่ผู้เรียนได้เพิ่งเรียนรู้มา เกินกว่าครึ่งของข้อมูลนั้นจะถูกลืมไปภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากการเรียน และหลังจากนั้นอีกหนึ่งวัน ผลปรากฏว่าผู้เรียนจนจำเนื้อหาใหม่ที่ได้เรียนไปเพียง 30% เท่านั้น
แล้วจะจำอย่างไรล่ะ?
มีเทคนิคที่เรียกว่า Memorize reputation ที่จะช่วยให้คุณจดจำข้อมูลใหม่ๆที่ได้เรียนรู้ไว้ได้นานยิ่งขึ้น การจดจำที่ถูกบังคับ (forced memorization) ไม่ใช่สิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นการบังคับให้สมองจดจำ ทำให้สมองไม่สามารถเข้าถึงเหตุผลว่าเพราะเหตุใดข้อมูลเหล่านี้จึงถูกยัดเยียดเข้ามาอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้สมองไม่ให้ความร่วมมือในการจำนั้นนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเราต้องจดจำสิ่งใหม่ๆในระยะเวลาสั้นๆ เช่นการเตรียมสอบ มาดูเทคนิคกันเลยว่า จะจดจำให้เร็ว และไม่ลืม อย่างไรภายในระยะเวลาสั้นๆ
เทคนิคการจำเพื่อใช้งานภายในระยะเวลาสั้นๆ
1. 1st repetition ทบทวนซ้ำทันทีหลังจากที่ได้เรียนมา
2. 2nd repetition ทบทวนซ้ำหลังจากเว้นช่วงจาก 1st repetition ไปประมาณ 15-20 นาที โดยระหว่างนั้น ควรให้สมองได้ผ่อนคลาย โดยการทำกิจกรรมที่ชอบ
3. 3rd repetition กลับมาทบทวนซ้ำอีกครั้ง หลังจากการเรียนผ่านไป 6-8 ชั่วโมง
4. 4th repetition ทบทวนซ้ำครั้งสุดท้าย หลังจาก 24 ชั่วโมงหลังจากที่ได้เรียนบทเรียนเป็นครั้งแรก
เทคนิคการจำให้ได้เป็นเวลานาน
วิธีการนี้ สำหรับข้อมูลที่เราต้องการจำให้ได้นานที่สุด จำเป็นต้องมีการขยายช่วงเวลาของการจำเกิดขึ้น
1. 1st repetition เริ่มต้นจาก การทบทวนครั้งแรกเกิดขึ้นทันทีหลังจากการเรียน
2. 2nd repetition หยุดพัก 20-30 นาที และเริ่มทบทวนอีกครั้ง
3. 3rd repetition ขั้นตอนนี้จะแตกต่างจากการจำแบบแรก โดยต้องมีการทบทวนซ้ำหลังจากการเรียนไป 1 วัน
4. 4th repetition ทบทวนซ้ำหลังผ่านไป 2-3 สัปดาห์
5. 5th repetition รอบสุดท้าย ทบทวนซ้ำหลังผ่านไป 2-3 เดือน
ด้วยวิธีการที่กล่าวมานี้ สมองจะจดจำข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีความจำเป็น มีการย้อนกลับมาทบทวนซ้ำเรื่อยๆ และข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกลบไป
ต่อไป จะเป็นเคล็ดลับ 11 ประการ ที่จะช่วยให้คุณจดจำสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และนานขึ้นกว่าเดิม ไปดูกันเลย
1. เลือกใช้หนังสือ หรือแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด
อย่าใช้หนังสือที่เก่า เพราะข้อมูลไม่อัพเดท ทางที่ดีคือตรวจสอบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ว่าเรื่องที่ต้องการเรียนนั้นตอนนี้เนื้อหาได้อัพเดทล่าสุดเป็นอย่างไร
2. ทำออกมาให้เป็นภาพ
ใช้ภาษากายของคุณในระหว่างการสื่อสาร ที่จะช่วยให้คุณกระตุ้นการจดจำของกล้ามเนื้อไปด้วย
3. ใช้เครื่องอัดเสียง
ใช้เครื่องอัดเสียงบันทึกเสียงของเราที่พูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และต้องการจดจำมัน และเปิดทบทวนเป็นช่วงๆจนสามารถจำได้วิธีการนี้เป็นวิธีที่ให้คุณได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนในการจดจำ อันดับแรกคือคุณใช้ตาอ่านข้อมูล ก่อนที่จะใช้หูฟังข้อมูลเหล่านั้นซ้ำอีกครั้ง การคลุกคลีกับข้อมูลที่เราเรียนรู้อยู่มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้เราจดจำมันดีขึ้นเท่านั้น
4. สร้างเรื่องราว
หากคุณต้องการจำข้อมูลมากมายด้วยเหตุผลต่างๆ ให้ลองสร้างเนื้อเรื่องขึ้นมา แล้วใส่ส่วนต่างๆของข้อมูลลงไปในเนื้อเรื่องที่คุณแต่งขึ้นมา เพราะหากคุณเผลอลืมไป คุณจะสามารถนึกออกได้โดยนึกถึงเนื้อเรื่องงที่คุณได้แต่งไว้
5. ใช้ “Nail words”
เทคนิคนี้คือการจับสิ่งที่เรียนอยู่ กับสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เช่น หากคุณต้องการจดจำคำว่า Nail (ตะปู) ในภาษาฝรั่งเศส คุณก็ต้องหาคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับ Wall (ผนัง), Hammer (ค้อน), Door (ประตู) ไปด้วย เนื่อจากสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน
6. สร้างอาณาจักรการจำของคุณเอง
ยกตัวอย่างจากซีรีส์สุดแสนโด่งดังอย่าง Sherlock Holmes ที่เขาสามารถท่องไปในอาณาจักรความจำของตนเองได้เป็นเวลาหลายๆชั่วโมง เพื่อมองหาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการไขคดีของเขา แนวคิดคือการจับรวมสิ่งต่างๆและสถานที่เข้าด้วยกัน เช่น เมื่อคุณอยู่ในห้องนอนของคุณ พยายามเชื่อมโยงสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้ เข้ากับบางสิ่งบางอย่างในห้องของคุณ ทำซ้ำประมาณสามรอบ หลังจากนั้นให้พยายามนึกว่าห้องของคุณนั้นมีลักษณะอย่างไร และใช้วิธีนี้ กับสิ่งที่คุณกำลังเรียน ทำให้ชัดเจนขึ้น ให้คุณแบ่งสิ่งที่จุดต้องการจำเป็น 2-3 ส่วน จากนั้น ให้เรียนสิ่งใหม่ๆเหล่านี้ในห้องที่แตกต่างกันในบ้านของคุณ หรือสถานที่ที่แตกต่างกันในเมืองของคุณเอง ด้วยวิธีการนี้ การจำของคุณจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ บทเรียนของคุณจะถูกเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆของสถานที่นั้นๆ เช่นผู้คน กลิ่น และอื่นๆ
7. เรียนแบบคู่ตรงข้าม
สิ่งตรงกันข้ามมักจะถูกจดจำได้ง่ายดายในฐานะคู่ตรงข้าม เช่น หากคุณกำลังเรียนภาษาใหม่ ให้จดจำคำศัพท์ กลางวัน-กลางคืน ไปพร้อมๆกัน แนวทางนี้จะช่วยสร้างความเชื่อนมโยงระหว่างสองสิ่งนี้ในความจำของคุณ หากคุณเกิดลืมคำใดคำหนึ่ง อีกคำจะช่วยให้คุณย้อนกลับไปจำได้
8. Interference theory ทฤษฎีการรบกวน
สับเปลี่ยนความสนใจของคุณจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง หรือจากกิจกรรมหนึ่ง ไปยังกิจกรรมหนึ่ง เช่น คุณกำลังอ่านสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดในที่สาธารณะมาเป็น 15 นาทีแล้ว ก็ให้พัก การพักการเรียนรู้ควรทำทุกๆ 15-20 นาทีของการเรียน เพราะเป็นช่วงที่คนเราสามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เรียนได้ดีที่สุด สิ่งที่ควรทำคือ สับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่แตกต่าง เช่นเล่นกีตาร์ หรือดูหนังที่ชอบ เป็นต้น สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ การเรียนสิ่งที่คล้ายกัน ทฤษฎีการรบกวนกล่าวว่า ความจำที่คล้ายคลึงกันมักจะมาผสมกันทำให้เกิดการสับสนได้ สิ่งที่ควรทำคือ หากคุณรู้ตัวว่ากำลังจะเรียนสิ่งใหม่ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ได้เรียนไป ให้หยุดพักให้นานขึ้น ก่อนที่จะไปเริ่มเรียนสิ่งใหม่
9. Serial position effect คนเรามักสามารถจะจดจำข้อมูลในช่วงเริ่มต้นและตอนท้ายได้ดีที่สุด
การเรียนสิ่งใหม่ ข้อมูลที่ส่วนเริ่มต้นและส่วนท้าย คือส่วนที่ถูกจดจำได้ดีที่สุด ให้ใช้ผลตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยหาสิ่งที่เป็นใจความสำคัญของเนื้อหาส่วนต้นและตอนจบ
10. เรียนรู้ข้อมูลที่จำเป็นที่สุด
การหยิบยกสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่คุณควรรู้ และสามารถทำได้ หลังจากนั้น ให้จดจ่อในสิ่งที่เป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่คุณต้องการจะจดจำมันให้ได้ และหากมีเวลาเหลือ ก็สามารถจัดสรรไปจดจำในสิ่งที่สำคัญรองลงมาได้
11. พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้
ผู้เรียนอาจจะเคยมีประสบการณ์ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่มีความรู้สึกไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ ทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ กลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีเอาเสียเลย ยิ่งเป็นข้อมูลใหม่ๆ หากผู้เรียนลืมข้อมูลตรงส่วนใดไป ก็ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนในเนื้อหาขั้นต่อไปอย่างต่อเนื่องได้ นี่อาจเป็นเพราะคุณกำลังจดจำเนื้อหาที่มีหลายๆถ้อยคำมาปะติดปะต่อกัน แต่ไม่ได้เป็นความหมายที่แท้จริงของคำเหล่านั้นเลย สิ่งที่ควรทำคือ การอ่านให้จบหมดทั้งหน้า และมาใช้ความคิดเพื่อสรุปว่าใจความสำคัญที่ข้อมูลที่ได้เรียนรู้ไปต้องการจะสื่อคืออะไร โดยการเขียนสรุปนั้นจำเป็นต้องใช้ภาษาง่ายๆที่เราเข้าใจได้เอง
ที่มา : 11 Secrets to Memorize Things Quicker ThanOthers
https://www.youtube.com/watch?v=mHdy1xS59xA&fbclid=IwAR1njftGA7Rw4RY5RZ_CnU5e0zcHU7Z91do3K0xvu0oaEndKD6Fp9epi0n8
เผยแพร่เมื่อ 4 ธ.ค.2017